‘มัทฉะ’ VS ‘กาแฟ’ เรื่องควรรู้ก่อนเลือกเมนูโปรด แก้วไหนให้ประโยชน์กว่ากัน

สำหรับ ‘Café Hopper’ (กลุ่มคนที่หลงใหลวัฒนธรรมกาแฟ และนิยมตระเวนชิมตามร้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ) จะมีอะไรดีไปกว่าการหาร้านกาแฟสวย ๆ สั่งเมนู Signature มาลิ้มลองให้เพลินใจ แต่ก่อนจะสั่งเครื่องดื่มแก้วต่อไป นักโภชนาการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของ 2 เมนูยอดนิยม ‘กาแฟ’ VS ‘มัทฉะ’ ที่เหล่านักฮอปควรรู้ก่อนตัดสินใจเลือกเมนูโปรด ว่าแต่แก้วไหนมีประโยชน์กว่ากัน?

ทุกวันนี้บ้านเรามีร้านกาแฟเก๋ ๆ เปิดใหม่ให้ตามไปเช็คอินกันแทบไม่ทัน ส่งผลให้หลายคนหันมาหลงใหลในวัฒนธรรมกาแฟที่มีกลิ่นหอมละมุน รสชาติกลมกล่อม และบรรยากาศสุดชิลล์ เป็นจุดขายของหลายร้าน หลายคนมักจะรู้สึกสดชื่นและผ่อนคลายมากขึ้นหากได้ประชุมหรือทำงานในร้านกาแฟ เพราะนอกเหนือจากสุนทรีย์ทางอารมณ์ แล้วร่างกายยังได้รับ ‘คาเฟอีน’ ซึ่งเป็นสารเคมีธรรมชาติที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทและสารเสพติดในเวลาเดียวกัน จึงไม่แปลกหากคุณจะรู้สึกอยากดื่มกาแฟมากกว่า 2-3 แก้วต่อวัน

องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) แนะนำปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมต่อร่างกายต้องไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/ วัน หรือเทียบเท่ากับแก้วขนาด 8 ออนซ์ (แก้วช็อต) ประมาณ 3 แก้ว โดยเอสเปรสโซหนึ่งช็อตมีปริมาณคาเฟอีน 212 มิลลิกรัม หากคุณสั่ง ‘มัคคิอาโต้’ จะได้รับปริมาณคาเฟอีนมากกว่าและทำให้ร่างกายตื่นตัวมากขึ้น ยังไม่นับรวมอาหารที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มให้พลังงานที่มีคาเฟอีนสูง อาจส่งผลให้ร่างกายได้รับปริมาณคาเฟอีนที่มากเกินไป!

Ordering at Starbucks: A Guide to Starbucks Lingo | Secret starbucks  drinks, Starbucks drinks, Iced starbucks drinks
รูปภาพแสดงปริมาณกาแฟตามขนาดต่าง ๆ ของเครื่องดื่มที่คุณสั่ง (ไม่รวมปริมาณคาเฟอีน)

นอกจากนี้ FDA ยังรวบรวมสถิติของชาวอเมริกัน พบว่า 83% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันนิยมดื่มกาแฟมากกว่า 2 แก้วต่อวัน ส่วนใหญ่พวกเขามักจะติดสารคาเฟอีนที่อยู่ในกาแฟ เพราะให้ความรู้สึกสดชื่น ตื่นตัว และกระปรี้กระเปร่า แม้ลึก ๆ แล้วสมองของคนเราจะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า และโหยหาการพักผ่อน แต่คาเฟอีนจะกระตุ้นการทำงานของสมองให้เข้าสู่โหมดตื่นตัว ชีพจรเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น และอัตราการหายใจเร็วขึ้น อย่างไรก็ดีการดื่มกาแฟที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ มากกว่าที่คิด

การดื่มกาแฟมากเกินไปอาจนำไปสู่:

  • ภาวะร่างกายขาดน้ำ
  • ความเบื่อหน่ายทางอารมณ์
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดหัว
  • วิตกกังวล
  • ความเป็นกรดของร่างกาย
  • ใจสั่น
  • นอนไม่หลับ
Photo by Toa Heftiba

ติดกาแฟมากไป อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ด้วย

ยิ่งคุณดื่มกาแฟมากเท่าไหร่ ความทนทานต่อคาเฟอีนของร่างกายก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้คุณดื่มกาแฟมากขึ้นในแต่ละวัน หนึ่งในงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ลงใน American Journal of Psychiatry พบความเชื่อมโยงระหว่างอาการเจ็บป่วยทางจิตใจกับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช 80% และผู้มีอาการซึมเศร้าราว 22% มักจะติดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างมาก และดื่มมากกว่า 2-3 แก้ว/ วัน ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลมากขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณสูงเกินไป นักวิจัยจึงไม่แนะนำให้คนที่มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือควรดื่มให้น้อยลงจะดีกว่า

‘มัทฉะ’ VS ‘กาแฟ’ แก้วต่อไปสั่งอะไรดี?

อย่างที่รู้กันดีว่า ร้านกาแฟส่วนใหญ่ไม่ได้มีแค่เมนูกาแฟให้เลือกดื่มเท่านั้น เพราะ ‘มัทฉะ’ ก็เป็นหนึ่งในเมนูยอดนิยมเช่นเดียวกัน จากเครื่องดื่มยอดนิยมของชนชั้นสูงของญี่ปุ่นในยุคเอโดะ สู่เครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลกในปัจจุบัน มัทฉะคุณภาพดีจะได้จากการนำใบชาเทนฉะมาบดให้ละเอียดจนหอมละมุน และเป็นเครื่องดื่มที่ใช้ในพิธีชงชามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 จวบจนปัจจุบันมัทฉะได้นำมามิกซ์เป็นเครื่องดื่มร้อนและเย็นให้เลือกอร่อยมากมาย

มัทฉะมีคาเฟอีนเช่นเดียวกับกาแฟ แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่การปลดปล่อยคาเฟอีนของกาแฟเหมือนการนั่งรถไฟเหาะ คุณจะรู้สึกตื่นเต้น ใจเต้นแรง และกระปรี้กระเปร่าอย่างรวดเร็วภายใน 1-3 ชั่วโมง จากนั้นร่างกายจะรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัวในที่สุด (ขึ้นอยู่กับระบบเผาผลาญของแต่ละคน) ขณะที่การปลดปล่อยคาเฟอีนของมัทฉะจะให้พลังงานต่อเนื่องราว 4-6 ชั่วโมง เปรียบเสมือนการเดินเล่นริมหาดทรายที่ผ่อนคลายและสดชื่นรื่นรมย์กว่า

ทำไม ‘มัทฉะ’ ไม่ทำให้คนเราติดคาเฟอีน?

มัทฉะเป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเช่นเดียวกับกาแฟ แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วมัทฉะมีปริมาณคาเฟอีนต่ำกว่ากาแฟถึง 50% ต่อแก้ว เพราะกาแฟมีปริมาณคาเฟอีนอยู่ที่ 90-150 มิลลิกรัม/ แก้ว ขณะที่มัทฉะมีปริมาณคาเฟอีน 35-40 มิลลิกรัม/ แก้ว อีกทั้งรูปแบบในการปล่อยคาเฟอีนของมัทฉะยังไม่ทำให้คุณรู้สึกกระวนกระวายหรือวิตกกังวล เพราะมีกรดอะมิโนแอล–ธีอะนีน (L-Theanine) ช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ลดอาการปวดหัวไมเกรน ลดระดับความเครียด ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความดันโลหิต ไม่ทำให้ใจสั่น และไม่ทำให้ร่างกายเสพติดสารคาเฟอีน ทั้งยังช่วยให้จิตใจสุขสงบและมีสมาธิมากขึ้น สำหรับคนที่รักการออกกำลังกาย ‘มัทฉะ’ ดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากกว่ากาแฟและเครื่องดื่มให้พลังงานอื่น ๆ ที่มีปริมาณคาเฟอีนสูง

*ดื่มกาแฟดำ 1 แก้ว ร่างกายได้รับคุณค่าทางโภชนาการอย่างไรบ้าง?

  • คาเฟอีน (Caffeine) สารเคมีธรรมชาติที่มีฤทธิ์เป็นยากระตุ้นระบบประสาท ทำให้รู้สึกตื่นเต้น ร่างกายปรับสภาพเข้าสู่โหมดตื่นตัว ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดสูงขึ้น และอัตราการหายใจเร็วขึ้น ทั้งยังมีฤทธิ์เป็นสารเสพติด หากวันไหนไม่ได้ดื่มกาแฟคุณจะรู้สึกหงุดหงิด ปวดหัว กระสับกระส่าย ซึมเศร้า คลื่นไส้ ง่วงซึม และไม่อยากทำงาน (อาการจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล)
  • ไนอะซิน (Niacin) เป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งที่ละลายน้ำได้ มีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ช่วยควบคุมการทำงานของระบบประสาทและสมอง
  • วิตามินบี 2 หรือ ไรโบฟลาวิน (Riboflavin) หนึ่งใน 8 ชนิดของวิตามินบีที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและละลายน้ำได้ จึงขับออกมาทางปัสสาวะ มีส่วนช่วยให้ร่างกายสามารถใช้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าของสายตา ทั้งยังช่วยบำรุงผิวพรรณ เล็บ และเส้นผมอีกด้วย
  • แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น โซเดียม (ต่ำ) , โพแทสเซียม , แคลเซียม , แมกนีเซียม และ แมงกานีส 

*ดื่มมัทฉะ 1 แก้ว ร่างกายได้รับคุณค่าทางโภชนาการอย่างไรบ้าง?

  • คาเทชิน (Catechins) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดการอักเสบ ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดี และลดโอกาสในการเกิดมะเร็ง
  • แอล – ธีอะนีน (L-Theanine) ช่วยเพิ่มสมาธิ ความจำ และกระตุ้นการปลดปล่อยฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกดี เช่น เอนดอร์ฟิน , ออกซิโทซิน , โดปามีน และเซโรโทนิน ช่วยให้คุณมีความสุขและลดความเครียด
  • เส้นใยอาหารสูง เนื่องจากมัทฉะทำจากใบชาบดละเอียด ทำให้ร่างกายได้รับคลอโรฟิลล์ตามธรรมชาติที่มีประโยชน์ ช่วยให้ผิวเปล่งปลั่ง บรรเทาอาการภูมิแพ้ หอบหืด แพ้อากาศ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ทั้งยังมีไฟเบอร์สูงช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันด้วยการเพิ่ม Thermogenesis ถึง 40% ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญแคลอรี่ของร่างกายให้ดีขึ้น
  • วิตามินจำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามิน A , B1 , B2 , B6 , C , E และ K
  • แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น โพแทสเซียม , แมกนีเซียม , แคลเซียม , สังกะสี , ฟอสฟอรัส และเหล็ก

เคล็ดลับปรับสมดุลระหว่างการดื่มกาแฟและมัทฉะ

  1. ดื่มกาแฟไม่เกินวันละ 2 แก้ว (ไม่เกิน 400 มิลลิลิตร) หากรู้สึกง่วงนอนหรือเหนื่อยล้าแนะนำให้งีบหลับหรือพักสายตาสัก 10-15 นาที คุณอาจจะออกไปเดินเล่นและสูดอากาศบริสุทธิ์ เพื่อช่วยให้ร่างกายตื่นตัว สดชื่น และผ่อนคลายมากกว่า
  2. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูงขณะออกกำลังกาย
  3. เปลี่ยนมาดื่มมัทฉะแทนการสั่งกาแฟแก้วโปรด เพื่อสุขภาพที่ดีและให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า

รู้อย่างนี้แล้ว ครั้งต่อไปที่เหล่า Café Hopper จะสั่งเครื่องดื่มในร้านกาแฟ ลองสำรวจตัวเองว่าคุณดื่มกาแฟเกินกว่าความต้องการของร่างกายแล้วหรือไม่? หากต้องการให้ร่างกายสดชื่น ตื่นตัว และผ่อนคลายในเวลาเดียวกัน มัทฉะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักเรียน คนทำงาน และคนรักการออกกำลังกาย